สื่อสาร CSR โครงการ “เรารักษ์น้ำ” ผ่านละคร “บ้านเรา จงเจริญ”

การสื่อสารผลงาน CSR ของ บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง ในโครงการ “เรารักษ์น้ำ” ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ในการที่จะเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องราวของโครงการให้น่าสนใจ

เราเลือกวิธีการสื่อสารโดยนำเนื้อหาโครงการเป็นเค้าโครงของบทละคร โทรทัศน์ ซึ่ง สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนจากโครงการอนุรักษ์น้ำและป่าต้นน้ำอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน และได้ผลตอบรับอย่างดี ทั้งในด้านเรตติ้งของผู้ชม และพื้นที่ข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้โฆษณาโทรทัศน์

นอกจากนั้น วัตถุประสงค์หลักอีกประการหนึ่ง คือ การเผยแพร่แนวคิด เกษตรทฤษฏีใหม่ ตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่สาธารณชน อย่างชวนติดตาม

โครงการ “เรารักษ์น้ำ” เป็นอีกหนึ่งโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) ของแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด

โครงการ “เรารักษ์น้ำ” โครงการ 1 เป็นการร่วมกันระหว่าง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด กับ มูลนิธิโครงการหลวง จัดสร้างอ่างเก็บน้ำชุมชน 80 แห่ง เพื่อชุมชนในที่ราบสูงภาคเหนือ ได้มีแหล่งเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่่ที่ดีขึ้น และเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระชนมายุครบ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

สำหรับโครงการ “เรารักษ์น้ำ” โครงการ 2 เป็นการร่วมมือระหว่าง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด กับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตพื้นที่ 3 กรมวิชาการเกษตรขอนแก่น และองค์การบริหารส่วนตำบลละหานนา ทำการขุดสระน้ำตามแนวกระแสพระราชดำริทฤษฎีใหม่เพื่อให้ชาวบ้านอำเภอละหานนา จังหวัดขอนแก่น ได้มีแหล่งเก็บน้ำและสามารถเริ่มทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวกระแสพระราชดำริได้เป็นจริง

เราเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่ และผลงานของโครงการอย่างมีสีสัน และชวนติดตามแก่ประชาชน โดยการเป็นผู้สนับสนุนหลักในการผลิตละครโทรทัศน์ จำนวน 8 ตอนเรื่อง “บ้านเรา จงเจริญ” ผลิตโดย บริษัท เอ็กแซ็คท์ จำกัด ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เวลา 20:25 น. ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2550

นอกเหนือจากความรับรู้ ซึ่งวัดได้จาก Rating ของละครแล้ว ในเชิงของการประชาสัมพันธ์ เรายังได้พื้นที่สื่อบันเทิง ซึ่งเป็นพื้นที่สื่อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาของโครงการ แต่การผลิตละครโทรทัศน์เรื่องใหม่ การเยี่ยมชมบ้านละหานนาของดารานำ ช่วยสร้างสีสัน เพิ่มพื้นที่ข่าว และสร้างความสนุนสนานให้กับชาวบ้าน ผู้ได้รับประโยชน์กับโครงการนี้ โดยถ้วนหน้า

ส่วนการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และผลกระทบที่เกิดขึ้น เราใช้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นสื่อหลัก

เกษตรทฤษฏีใหม่เป็นทฤษฎีแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารงานในการทำการเกษตรที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตร โดยการแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งขุดสระกักเก็บน้ำ จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สอง ปลูกข้าว จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สาม ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นและส่วนที่สี่ เป็นพื้นที่ที่ใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างเช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฉาง จำนวน 10% ของพื้นที่ จำนวนสัดส่วนของพื้นที่นี้ทั้งหมดสามารถปรับเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง เช่นครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกจำนวน 4 คน พื้นที่มีแหล่งน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี แต่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็ควรปรับลดพื้นที่ขุดสระ และเพิ่มพื้นที่นาข้าวเพื่อให้มีข้าวบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี

 

การสอดแทรกเรื่องราวของเกษตรทฤษฏีใหม่เข้าไปในละครนั้น มีความสนุนสนานและชวนให้ติดตามกว่าการเล่าเรื่องผ่านโฆษณาโทรทัศน์ และสร้างความรับรู้โดยทั่วไปว่า เรื่องราวของละครเรื่องดังกล่าว ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ “เรารักษ์น้ำ” ของบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง